"สารเสพติด" ความสุขเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เมื่อความทุกข์กัดกินจิตใจ


สวัสดีครับ กลับมาพบกันอีกครั้งกับ หมอจอม จาก Joy of Minds Clinic นะครับ สำหรับสาระน่ารู้ในครั้งนี้ หมอจะขอนำเสนอ ในรูปแบบซีรี่ย์ต่อเนื่องยาวๆกันไปเลย เกี่ยวกับเรื่องของยาเสพติด เนื่องจากยุคนี้สมัยนี้หลายๆคนคงมีความเครียดกันมาก ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนก็คงต้องการหาหนทางในการบำบัดความรู้สึกทุกข์ใจให้มันหมดไปโดยเร็ว สิ่งเสพติดต่างๆ เช่น เหล้า เบียร์ กัญชา ยาไอซ์ ก็มักจะเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่ไม่มีทางออก ที่จะนำมาใช้ช่วยให้ลืมความทุกข์ หรือหนีออกไปจากความจริงอันโหดร้าย แม้เพียงชั่วครู่ชั่วยามก็ยังดี

แต่แน่นอนว่าความสุขที่ได้มาเพียงช่วงสั้นๆนั้น แลกมากับผลกระทบที่ใหญ่หลวงต่อทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต เสียเงินเสียทอง เสียหน้าที่การงาน เสียความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว เรียกได้ว่าไม่คุ้มกันเลยนะครับ ที่จะไปเดินในเส้นทางนี้

สำหรับใครที่สนใจอยากเข้าใจเรื่องยาเสพติดให้มากขึ้น เพื่อเอาไปแนะนำช่วยเหลือคนใกล้ตัว หรือคนที่เรารัก หรือแม้แต่ เอามาทำความเข้าใจตัวเราเอง เพื่อตัดสินใจในการมารับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป ก็อย่าลืม ติดตามซีรี่ย์นี้กันไปยาวๆเลยนะครับ

สำหรับตอนแรกในวันนี้ขอนำเสนอในประเด็นที่เป็นคำถามยอดฮิตของคนที่ใช้สารเสพติดทุกชนิดเลยก็คือ แค่ไหนถึงเรียกว่า “ติด”

เป็นธรรมดาของหลายๆคนที่ใช้ หรือหมกมุ่นกับบางสิ่งบางอย่างมากๆ แต่ก็ยังไม่คิดว่าตนเอง “ติด” สิ่งนั้น หมอมักจะได้รับฟังข้อความทำนองนี้จากคนไข้อยู่เสมอๆ

“ ผมกินเหล้าก็จริงครับ กินตามสังคม งานสังสรร ไม่ได้ติดหรอก “ ( แต่มีงานสังสรรแทบทุกวันเลยนะ เมาหัวทิ่มทุกวันเลย)

“ยาไอซ์น่ะ ผมไม่ติดหรอก จะเลิกเมื่อไหร่ก็ได้ “ (แต่ตลอด 10 กว่าปีมานี้ไม่เคยเลิกเลยซักวันนะ ทั้งที่ชีวิตพังยับเยินขนาดนี้)

“ ผมสูบกัญชาก็จริง แต่ก็ใช้ชีวิตได้ปกตินะ ไม่น่ามีปัญหา “ ( ปกติในมุมมองของคุณ แต่เคยถามคนรอบตัว เพื่อนร่วมงาน ครอบครัวของคุณมั๊ยว่า คุณเปลี่ยนไปมากขนาดไหนตั้งแต่คุณใช้มัน )

สุดท้ายแล้วอะไรจะเป็นตัวตัดสินว่า การใช้สารของใครที่อยู่ในระดับที่น่าจะเป็นปัญหา หรือที่ใช้คำว่า “ติด”

โดยส่วนใหญ่หมอจะยึดตามนิยามทางวิชาการ ของ DSM 5 ซึ่งจะเอามาเล่าให้ฟังกันแบบที่เข้าใจง่ายๆ ดังนี้นะครับ

หากคุณมีการใช้สารเสพติดแล้วมีอาการดังต่อไปนี้ ตั้งแต่ 2 ข้อขึ้นไป เป็นระยะเวลานานกว่า 1 ปี ก็ถือว่าคุณ “ติด” สารตัวนั้นแล้วล่ะครับ

  1. มีการใช้สารชนิดนั้นนานกว่าที่ตั้งใจไว้
    พูดง่ายๆคือติดลมนั่นเอง เช่น บังเอิญเดินไปเจอเพื่อนในร้านอาหารแห่งหนึ่งแล้วตั้งใจว่าจะจิบเบียร์กันเบาๆซักแก้ว เสร็จแล้วจะไปรับภรรยาหที่กำลังจะเลิกงาน แต่สุดท้ายแล้ว ภรรยาก็รอไปเถอะครับ จนร้านปิดโน่นแหละถึงจะรู้สึกตัวว่าต้องไปรับ หรือไม่ก็เมาพับไปจนภรรยาต้องกลับบ้านเองในที่สุด
  2. พยายามเลิกหรือลดแล้ว แต่ไม่สำเร็จซักที
    เวลาคนไข้บอกหมอว่าผมไม่ “ติด” หรอกครับ หมอก็มักจะย้อนถามไปว่า ถ้าไม่ติดแล้วเลิกได้มั๊ยล่ะ เลิกให้หมอดูซักเดือนนึง หรือ แค่ 10 วันก็ยังดี คนไข้ก็บอกว่า โอเคครับ ผมจะพยายาม งั้นตกลง สัญญาลูกผู้ชายกับหมอนะ แต่ไม่ทันไร กลับบ้านไปแป๊บเดียวก็เผลอกลับไปกินแล้ว ทั้งๆที่สัญญากับหมอไว้ซะดิบดี อย่างนี้ไม่เรียกติด จะเรียกอะไรล่ะครับ
  3. ใช้เวลาวันทั้งวันไปกับการเสพสาร หรือการฟื้นตัวหลังจากเสพ
    ใครอยากเข้าใจเรื่องนี้ลองไปหาเพลง ศุกร์เมาเสาร์นอน ของคุณพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ มาฟังกันนะครับ ในเพลงมีท่อนหนึ่งที่กล่าวว่า “ ศุกร์เมา เสาร์นอน อาทิตย์ถอน จันทร์ลา “ ก็หมายความว่าแต่ละวันไม่ต้องทำอะไรกันแล้ว หมดไปกับการการดื่ม และการที่จะค่อยๆฟื้นตัวจากการดื่ม
  4. มีอาการ craving ภาษาไทยอาจใช้คำหยาบๆว่า เสี้ยนยา
    พูดให้เข้าใจง่ายๆคือมีความอยากเสพ อยากใช้ คิดถึงอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าเห็นอะไรที่เชื่อมโยงไปถึงเรื่องการใช้สารก็จะรู้สึกควบคุมตัวเองไม่ได้ต้องหามาใช้ในทันที เช่น ดูหนังที่เกี่ยวกับคนที่เสพยา ตัวเองก็เสี้ยนขึ้นมา ต้องรีบโทรหาคนขายในทันที
  5. ยังคงใช้สาร แม้ว่าจะทำให้เกิดผลเสียต่อหน้าที่การงาน
    บางคนหัวหน้างานคาดโทษไว้แล้วว่าถ้าเลิกไม่ได้ จะลดเงินเดือนหรือไม่ก็ไล่ออก คนปกติทั่วไปก็น่าจะกลัวตกงาน จนต้องพยายามเลิกให้ได้ในที่สุด แต่คนที่ติด ก็แน่นอนว่าคงจะไม่มีทางทำได้สำเร็จ จนสุดท้ายก็ต้องเสียงาน หรือโอกาสที่ดีๆ ในชีวิตไป
    มีเรื่องตลกเรื่องหนึ่ง เรื่องมีอยู่ว่า มีทหารยศสิบเอกคนหนึ่งติดเหล้ามากจนชีวิตราชการไม่เจริญก้าวหน้า
    ติดแหง็กอยู่ที่สิบเอก จนใกล้จะเกษียณอยู่แล้ว อยู่มาวันหนึ่ง ผู้พันก็เรียกมาคุย บอกว่าถ้าคุณเลิกเหล้าได้นะ ผมจะช่วยสนับสนุนคุณเป็นพิเศษ ดีไม่ดีก่อนเกษียณอาจจะได้เป็นถึงนายร้อยเลยเชียวนะ
    คุณสิบเอกของเราได้ฟังแล้วก็เฉยๆ บอกว่า ผมไม่สนยศนายร้อยอะไรนั่นหรอกครับ เพราะทุกทีเวลาผมเมาได้ที่ ผมจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นนายพลทุกทีเลย 555
    คนบางคนก็พอใจที่จะอยู่กับโลกหลอนๆ หลอกตัวเองไปวันๆ แทนที่จะยอมรับความจริงแล้วพัฒนาตัวเองนะครับ
  6. ยังคงใช้สารแม้จะเกิดอันตรายต่อสุขภาพร่างกายอย่างรุนแรง
    บางคนทั้งๆที่รู้ดีอยู่แล้ว หรือแพทย์ที่ดูแลก็ย้ำนักย้ำหนาว่า ถ้าไม่เลิกบุหรี่ โรคหัวใจขาดเลือดจะเป็นมากขึ้น จนอาจจะตายก็ได้นะ หรือเป็นหอบหืด ถุงลมโป่งพอง หอบเหนื่อยจนจะตายอยู่แล้ว ก็ยังไม่หยุดสูบ กลัวตายก็กลัวนะ แต่ของมันติดนี่นา นี่แหละครับเรียกว่า “ติด”
  7. ใช้จนเกิดอันตรายแก่ร่างกายที่เห็นได้ชัด
    เช่น เมาแล้วขับรถ หรือใช้ยาเสพติดแล้วไปขับรถ ซึ่งก็น่าจะรู้อยู่แก่ใจอยู่แล้วว่าจะต้องเกิดอันตรายแก่ชีวิตตนเองแน่นอน และยิ่งถ้าไปชนคนอื่นตายด้วยก็จะต้องรับโทษหนัก ยกเว้นคุณพ่อคุณจะขายเครื่องดื่มชูกำลัง จนร่ำรวยพอที่จะให้ตำรวจช่วยแก้ไขหลักฐานอะไรนิดๆหน่อยได้อ่ะนะ (เช่นจากโคเคน เป็นยาชา อะไร หรือไม่ได้เมาแล้วขับ แต่เป็นขับรถชนแล้วค่อยมากินเหล้า เป็นต้น)
  8. ใช้จนไม่สามารถเข้าสังคม หรืออยู่ร่วมกับผู้อื่น
    ถ้าเจอกันทีไรก็เมา พูดไม่รู้เรื่อง อาละวาด ทำให้ทุกคนเค้าวงแตกไปหมด ใครจะไปอยากอยู่ร่วมกับคนพวกนี้ล่ะครับ จริงมั๊ย ยิ่งบางคนที่ใช้สารเสพติดแล้วมีอาการก้าวร้าว ทำร้ายคนอื่น โดยเฉพาะที่สำคัญคือคนในครอบครัวนี่แหละ ก็จะนำมาซึ่งปัญหาความแตกแยกในครอบครัว และสุขภาพจิตของคนในครอบครัวก็จะแย่ลงด้วย เรียกได้ว่าคนคนเดียว แต่ทำลายความสุขของคนทั้งครอบครัว
  9. การใช้สารทำให้ต้องงดกิจกรรม หรือการเข้าสังคมไปโดยปริยาย
    อาจจะฟังดูคล้ายข้อที่แล้ว แต่อันนี้หมายถึงการที่คนไข้หมกมุ่นกับการใช้สารมากจนแยกตัวออกจากสังคม และความรับผิดชอบอื่นๆในชีวิตไปเลย การเป็นคนที่ทำตัวไม่มีคุณค่า อยู่ไปวันๆ ซึ่งน่าเสียดายมากนะครับ สำหรับการที่เราต้องเสียทรัพยากรบุคคลอันมีคุณค่าไปเช่นนี้ เพราะชีวิตของคนคนหนึ่งนั้น ถ้าเค้าไม่ติดสารเสพติด เค้าก็จะสามารถทำงานสร้างรายได้ ช่วยดูแลครอบครัว สร้างสรรสิ่งที่ดีๆให้แก่สังคมได้มากมายเลยนะครับ

    ส่วนข้อ 10 และ 11 นี้มีความสำคัญมาก เรียกได้ว่าเป็นเอกลักษณ์สำคัญ ของสารเสพติดเลย นั่นก็คือ ( อ้าว สำคัญ ทำไมเอามาไว้ข้อหลังๆล่ะ สงสัยหมอจะเมามั๊ง 555 )
  10. มีอาการดื้อยา หรือภาษาอังกฤษใช้คำว่า Tolerance
    หมายความว่า เดิมทีเดียวเคยใช้สารนี้แค่ระดับน้อยๆก็ฟินแล้ว แต่ใช้ไปใช้ไป ชักเริ่มไม่ฟินเหมือนเดิม ต้องเพิ่มปริมาณมากขึ้นถึงจะได้ระดับความฟินแบบเดิม ตรงนี้แหละที่เป็นปัญหา เงินทองที่ต้องใช้ไปในการแสวงหาสารเสพติดก็จะมากขึ้นเรื่อยๆ จนบางทีต้องผันตัวไปเป็นคนขาย เพราะอยากได้มีโอกาสใช้ยาในปริมาณที่มากขึ้น
    การใช้ปริมาณที่มากขึ้นเพื่อให้จิตใจมันฟิน แต่ถึงจุดหนึ่งมันก็เกิดขีดจำกัดที่ร่างกายจะรับได้ ก็อาจจะมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
  11. มีอาการถอนยา หรือที่เรียกว่า Withdraw
    หลายๆคนน่าจะเคยเห็นกันนะครับ อย่างบางคนที่กินเหล้าทุกวัน วันไหนไม่ได้กิน มือสั่น กระสับกระส่าย นั่งไม่ติดกันเลยทีเดียว นี่แหละครับอาการถอนยา ซึ่งจะเกิดเวลาที่คนคนนั้นหยุดใช้สาร หรือแม้แต่ใช้ในปริมาณที่น้อยลงก็มีอาการได้ ซึ่งจะทำให้เจ้าตัวทรมานมาก เพราะฉะนั้นทำยังไงไม่ให้ทรมาน ก็อย่าไปหยุดใช้สิครับ ใช้ต่อไปเรื่อยๆ นี่แหละที่ทำให้คนเลิกสารเสพติดไม่ได้ซะที พราะว่ากลัว และทรมานจากอาการถอน นี่เอง

    เอาล่ะครับวันนี้ก็ได้เล่าให้ฟังกันพอสมควรแล้ว น่าจะพอที่จะทำให้หลายๆคนได้ลองไปสำรวจตนเอง หรือคนใกล้ชิดได้ว่า มีปัญหาในการใช้สารเสพติด ในระดับที่ควรได้รับการรักษาบำบัดกันอย่างจริงจังหรือไม่ ในคนที่ “ติด” ไปแล้ว รีบมาพบแพทย์เถอะครับ อย่าเสียเวลาอยู่กับคำว่า เดี๋ยวเลิกเอง เดี๋ยวก็เลิกได้ อีกต่อไปเลยครับ ถ้ามันง่าย หรือทำได้จริงๆ เค้าทำไปนานแล้วครับ


Credit : นายแพทย์จตุภัทร คุณสงค์

ปรึกษาแนวทางการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางและนัดหมายแพทย์

ช่องทางการติดต่อ · โทรศัพท์: 090-959-9304 · LINE: @JOYOFMINDS